FILMCURE

เยียวยาโดยภาพยนตร์ My article 's wishlist

Wednesday, May 25, 2005

รัตน์ เปสตันยี รัตนะแห่งหนังไทย

ที่มา http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=28


10/07/04 (By: มูลนิธิหนังไทย)

รัตน์ เปสตันยี เริ่มต้นการทำงานจากความสนใจในเรื่องการถ่ายภาพตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อครั้งที่ถูกส่งไปเรียนหนังสือที่อินเดีย ก็มีผลงานชนะการประกวดการถ่ายภาพในระดับประเทศ ต่อมาเมื่อไปศึกษาต่อวิชาวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็มีผลงานด้านการถ่ายภาพเข้าประกวดจนได้รับรางวัลอยู่เสมอ ๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2481 คุณรัตน์ส่งภาพยนตร์สั้นเรื่อง “แตง” เข้าประกวดที่เมืองกลาสโกล์ว ประเทศอังกฤษ ได้รับรางวัลจากอัลเฟรด ฮิทช์ค็อค หลังจากนั้นได้ส่งภาพยนตร์สั้นเรื่อง “เรือใบสีขาว” เข้าประกวดได้รับรางวัลจากงานมหกรรมโลกนิวยอร์ค

เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยคุณรัตน์ทำงานที่บริษัทนายเลิศ และบริษัทดีทแฮล์มกว่าสิบปี ก่อนที่จะได้รับการชักชวนจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล แห่งอัศวินภาพยนตร์ ให้มาเป็นช่างถ่ายภาพภาพยนตร์ 16 มม. เรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” และด้วยมนต์เสน่ห์ของโลกภาพยนตร์ หลังจากนั้นคุณรัตน์ก็เริ่มต้นทำหนังเรื่องแรกของตัวเอง “ตุ๊กตาจ๋า” ในปีพ.ศ.2494 รับหน้าที่ทั้งกำกับการแสดง เขียนบทและกำกับภาพ โดยใช้บริเวณบ้านที่ถนนวิทยุ เป็นสถานที่ในการถ่ายทำ เมื่อหนังเรื่อง “ตุ๊กตาจ๋า” ออกฉายก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เป็นเหตุให้คุณรัตน์ ตั้งโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตราฐาน 35 มม. ในนามบริษัทหนุมานภาพยนตร์ ซึ่งสั่งเครื่องมือจากฮอลลีวู้ดทั้งหมด

“สันติ-วีณา” ผลงานเรื่องแรกที่สร้างในนามหนุมานภาพยนตร์ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับภาพยนตร์ไทยจากการเข้าร่วมประกวดในงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.2497 จากภาพยนตร์ที่ส่งเข้าประกวด 26 เรื่อง ภาพยนตร์สั้น 8 เรื่อง จาก 9 ประเทศ “สันติ-วีณา” ได้รับ 2 รางวัลคือรางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี) และรางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ)

นอกจากนี้ยังได้รางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกาเป็นกล้อง Mitchell BNC ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่แสดงวัฒนธรรมของเอเชียได้ดี แต่รางวัลที่ได้กลับนำพาความคับข้องใจมาให้ เมื่อต้องเสียภาษีในการนำเข้าประเทศเป็นจำนวนเงินสูงถึง 5000 เหรียญ ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนจากกล้อง Mitchell BNC เป็นกล้อง Mitchell NC ซึ่งมีราคาถูกกว่าเพื่อนำเงินส่วนต่างนั้นมาชำระค่าภาษีที่เกินขึ้น และเมื่อคราวที่ต้องนำฟิล์มต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” กลับมาเมืองไทย ก็ถูกเรียกเก็บภาษีฟิล์มอีกครั้ง ทำให้คุณรัตน์จำต้องทิ้งฟิล์มเนกาทีฟไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะส่งกลับไปเก็บไว้ยังแล็ปที่ประเทศอังกฤษ แต่เหตุไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นฟิล์มภาพยนตร์ได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่งทางเรือ เป็นเหตุให้ฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในระดับนานาชาติไม่มีเนกาทีฟหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย

บทความในนิตยสาร Investor เดือนสิงหาคม พ.ศ.2513 ได้กล่าวถึง “สันติ-วีณา” ว่า “อาจจะเป็นหนังไทยที่ดีที่สุดที่มีการสร้างมา” สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “สันติ-วีณา”จึงเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

ผลงานเด่นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณรัตน์ กำกับและเขียนบทเองคือเรื่อง “โรงแรมนรก” หนังไทยที่ล้ำหน้ามากในปี พ.ศ.2500 และกล้าหาญกว่าหนังไทยหลายเรื่องใน พ.ศ.นี้ “โรงแรมนรก” เป็นเสมือนงานทดลองที่คุณรัตน์ พยายามแสดงให้คนทำหนังเห็นว่าการถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ขาวดำนั้นมีการลงทุนที่ต่ำกว่าหนังที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี อีกทั้งยังสามารถล้างและพิมพ์ฟิล์มได้ภายในประเทศไม่จำเป็นต้องส่งไปยังแล็ปในต่างประเทศ เป็นเสมือนการเชิญชวนให้คนทำหนังหันมาสร้างหนัง 35 มม. กันมากขึ้นเพื่อช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ

จุดมุ่งหมายอีกอย่างในการสร้างภาพยนตร์ของคุณรัตน์ คือการเผยแพร่ภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ในปี พ.ศ.2504 “แพรดำ” เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความตั้งใจนี้อย่างแท้จริง และได้เข้าร่วมประกวดในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน แม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัลใด ๆ กลับมา แต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากสื่อมวลชนที่ไปร่วมงาน

ลักษณะเฉพาะของหนังที่คุณรัตน์สร้างนั้น จะไม่ค่อยคำนึงถึงตลาดมากนัก มีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจนแต่สำหรับ “น้ำตาลไม่หวาน” ภาพยนตร์ที่สร้างในปี พ.ศ.2507 กลับเป็นงานที่รวบรวมองค์ประกอบของหนังตลาดเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รัก ตลก โป๊ และเพลงประกอบ แต่ในเวลาเดียวกันภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เสียดสีการเป็นหนังตลาดได้อย่างเจ็บแสบเช่นกัน

หลังจากเรื่อง “น้ำตาลไม่หวาน” คุณรัตน์ได้ยุติการสร้างภาพยนตร์ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ และความเบื่อหน่ายในการขอคิวดารา ทำให้หลังจากนี้ไม่มีผลงานภาพยนตร์ออกมาอีก นอกจากหนังเรื่องแล้ว คุณรัตน์ยังได้ผลิตหนังสารคดีให้กับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งผลิตหนังโฆษณาป้อนโรงหนังต่างๆ ด้วย

นอกจากการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์แล้ว คุณรัตน์ เปสตันยี ยังเป็นแกนนำในการเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหาที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยกำลังเผชิญอยู่ ขอให้สนับสนุนภาพยนตร์ไทยในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งด้วย และยังเป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทยด้วย

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2513 ณ ห้องเมธี โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทย ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ และข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปว่ารัฐบาลจะให้การช่วยเหลือภาพยนตร์ไทยอย่างไรบ้าง ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนผลัดกันพูด คุณรัตน์ขออนุญาตลุกขึ้นพูดเป็นคนสุดท้าย แต่ด้วยความอัดอั้นและคับข้องใจที่เผชิญมาตลอดเวลาที่ทำงาน เป็นเหตุให้เกิดอาการหัวใจวายล้มลงกลางที่ประชุม และเสียชีวิตเมื่อเวลา 22.18 น. ที่โรงพยาบาลจุฬา

ในวันนี้ ถ้ามีใครถามถึงชื่อผู้กำกับไทยสักคน ชื่อของ รัตน์ เปสตันยี ควรจะเป็นชื่อที่เราเอ่ยถึงด้วยความภาคภูมิใจ เพราะเขาไม่ได้เป็นแค่คนทำหนัง แต่เขาตายเพราะความหวังที่จะเห็นหนังไทยได้ดี แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า 33 ปี นับจากวันที่เขาเสียชีวิต

ภาพยนตรานุกรม
2493 พันท้ายนรสิงห์ 16 มม. (ถ่ายภาพ)
2494 ตุ๊กตาจ๋า 16 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, กำกับภาพ)
2497 สันติ-วีณา 35 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับภาพ)
2498 ชั่วฟ้า-ดินสลาย 35 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับภาพ)
2500 โรงแรมนรก 35 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, ลำดับภาพ)
2501 สวรรค์มืด 35 มม. (กำกับการแสดง)
2504 แพรดำ 35 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, กำกับภาพ, ลำดับภาพ)
2507 น้ำตาลไม่หวาน 35 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, ถ่ายภาพ)

ภาพยนตร์สารคดี (ผลิตให้กับกรมศิลปกร)
2501 ธรรมจักร (ถ่ายภาพ)
2501 ไทยแลนด์ (ถ่ายภาพ)
2501 นิ้วเพชร (ถ่ายภาพ)

0 Comments:

Post a Comment

<< Home